วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

โรเบิร์ต บุนเซน (Robert Bunsen)





       โรเบิร์ต บุนเซน (Robert Bunsen) มีชื่อเต็มว่า โรเบิร์ต วิลเฮล์ม เอเบอร์ฮาร์ด บุนเซน (Robert Wilhelm Eberhard Bunsen) เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1811 ที่ฮันโนเวอร์ เยอรมนี เขาเป็นนักเคมีที่ศึกษาสเปกตรัมการแผ่ของวัตถุที่ได้รับความร้อน และค้นพบแร่ซีเซียม ที่ใช้ในโรงงานนิวเคลียร์ และแร่รูบิเดียม ที่สามารถติดไฟได้เองในอากาศ รวมถึงยังเป็นผู้คิดค้นตะเกียงบุนเซน อุปกรณ์ให้ความร้อนทรงประสิทธิภาพที่ให้ความร้อนใดดีกว่าอุปกรณ์เดิม ๆ ในห้องทดลองสมัยนั้นด้วย
ส่วนชีวิตของโรเบิร์ต บุนเซน นั้น เขาเติบโตมาในครอบครัวของศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์สมัยใหม่ และหัวหน้าบรรณารักษ์แห่งมหาวิทยาลัยเกิตทิงเกน เขาได้รับการศึกษาเล่าเรียนเหมือนเด็กปกติ โดยสนใจด้านเคมีเป็นพิเศษ และเริ่มมุ่งเน้นศึกษาต่อทางด้านเคมีจนจบปริญญาเอก ขณะที่อายุได้เพียง 22 ปีเท่านั้น และหลังจากที่เขาเรียนจบแล้ว ก็ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดิตทิงเกน สถาบันเดียวกันกับพ่อและแม่ ก่อนที่จะได้รับเกียรติให้ไปสอนในมหาวิทยาลัยมาร์เบิร์ก ซึ่งตลอดเวลาที่เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยนั้น เขาก็ค้นคว้าทางด้านเคมีอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรักทางด้านเคมี ทำให้เขาทดลองสารต่าง ๆ จนเกือบจะเสียชีวิตเพราะพิษสารหนูมาแล้ว และยิ่งไปกว่านั้น ตาขวาเขายังมองไม่เห็นหลังจากเกิดการระเบิดของคาโคดิลอีกด้วย
        จนเมื่อปี ค.ศ.1841 โรเบิร์ต บุนเซน ได้คิดค้นแบตเตอรี่บุนเซน ที่ใช้ขั้วไฟฟ้าคาร์บอนแทนขั้วไฟฟ้าแพลตินั่มที่เคยใช้กัน หลังจากนั้นเมื่อปี ค.ศ.1851 เขาก็ได้รับเกียรติเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเบรสลอว์ และมีส่วนช่วยสอนในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง เรียกว่าเป็นศาสตราจารย์ทางเคมีที่ได้รับการยอมรับ และโด่งดังมากที่สุดในขณะนั้น จนเมื่อปี ค.ศ.1859 เขาก็ได้งานสอน มาทดลองเคมีร่วมกับ กุสตาฟ เชอร์คอฟ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสเปกตรัมการแผ่ของวัตถุที่ได้รับความร้อน ในการทดลองนี้ เขาได้คิดค้นตะเกียงบุนเซนขึ้น และพบว่ามันมีประสิทธิภาพมากกว่าตะเกียงใด ๆ เพราะร้อนกว่า แถมยังสะอาดกว่าอีกด้วย และต่อมาในปี ค.ศ.1860 เขาก็ได้ค้นพบแร่ซีเซียม ที่ใช้ในโรงงานนิวเคลียร์ และค้นพบรูบิเดียม เมื่อปี ค.ศ.1861 และได้รับรางวัลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จากสวีเดนอีกด้วย
       หลังจากนั้น โรเบิร์ต บุนเซน ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในห้องทดลองเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1899 บุนเซนก็เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย 88 ปี แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น ชื่อของเขาก็หาได้สูญสิ้นไปกับร่างกายไม่ บุนเซนยังคงได้รับการยกย่องและพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์เคมีมาจนถึงทุกวันนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น